วันศุกร์ที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557


 กลวิธีในการแต่ง


                       สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรสทรงดำเนินเรื่องตามธรรมเนียมนิยมในการแต่ง กล่าวคือ เริ่มด้วยบทสดุดี มีเนื้อเรื่องและตอนท้ายกล่าวสดุดีสมเด็จพระนเรศวรมหาราชและจบด้วยการกล่าวถึงจุดมุ่งหมายของกวี บอกชื่อความเป็นมาและคำอธิษฐานของพระองค์ท่าน การนำเสนอเรื่อง พระองค์ไม่ได้สอดแทรกคพวิพากษ์วิจารณ์ใดๆ ลงไป คือ ไม่นำตัวตนของกวีไปแทรกในเรื่อง
                       การสร้างและให้บทบาทบุคคลในเรื่อง กวีมุ่งแสดงให้เห็นพระบรมเดชานุภาพของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช จึงมีการแทรกเรื่องอิทธิปาฏิหาริย์ พระปรีชาสามารถในการใช้คำพูดโดยใช้หลักจิตวิทยาในการท้าพระมหาอุปราชาออกรบและความกล้าหาญ ดังนั้น บทบาทของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช จึงเป็นประดุจสมมติเทพและเป็นบุคคลตามอุดมคติ ในการทำสงครามก็ตรัสปรึกษาแม่ทัพนายกองและพระองค์ก็เป็นผู้ยึดมั่นในพระพุทธศาสนา เมือทรงลงโทษประหารชีวิตทหารที่ติดตามพระองค์ไม่ทัน ก็ให้รอพ้นวันพระเสียก่อน เป็นต้น และเมื่อได้ฟังคำขอพระราชทานอภัยโทษจากสมเด็จพระวันรัตก็พระราชทานอภัยโทษให้โดยไม่มีทิฐิทำให้พระเกียรติคุณของพระองค์ปรากฏเด่นชัดยิ่งขึ้น

      
     การเดินทัพของพระมหาอุปราชาจากเมืองมอญสู่กาญจนบุรี
                               ล่วงลุด่านเจดีย์                           สามองค์มีแห่งหั้น
                               แดนต่อแดนกันนั้น                                      เพื่อรู้ราวทาง
                               ขับพลวางเข้าแหล่ง                                    แห่งอยุธเยศหล้า
                               แลธุลีฟุ้งฟ้า                                                มืดคลุ้มมัวมล ยิ่งนา
                                                                                                                
                                                                               ฯลฯ





                                     ฉากและบรรยากาศ

                  ฉากที่ปรากฏในเรื่องตอนที่เรียน คือ เหตุการณ์ภายในเมืองมอญและบรรยากาศระหว่างการเดินทัพของพระมหาอุปราชาจากเมืองมอญสู่กาญจนบุรี ผู้แต่งได้บรรยายฉากและบรรยากาศได้สมจริงสอดคล้องกับเนื้อเรื่อง

                                           เหตุการณ์ภายในเมืองมอญ

                   ฝ่ายพระนครรามัญ ขัณฑ์เขตด้าวอัสดง หงสาวดีบุเรศ รั่วรู้เหตุบมิหึง แห่งเอิกอึงกิดาการ ฝ่ายพสุธารออกทิศ ว่าอดิศวรกษัตรา มหาธรรมราชนรินทร์ เจ้าปัฐพินทร์ผ่านทวีป ดีบชนมชีพพิราลัย เอารสไทนฤเบศ นเรศวรเสวยศวรรยา แจ้งกิจจาตระหนัก จึ่งพระปิ่นปีกธาษตรี บุรีรัตนหงสา ธก็บัญชาพิภาษ ด้วยมวลมาตยากร ว่านครรามินทร์ ผลัดแผ่นดินเปลี่ยนราช เยียววิวาทชิงฉัตร เพื่อกษัตริย์สองสู้ บร้างรู้เหตุผล ควรยาตรพลไปเยือน เตือนประยุทธ์เอาเปรียบ แม้นไป่เรียบเป็นที โจมจู่ยีย่ำภพ เสนีนบนึกชอบ ระบอบเบื้องบรรหาร ธก็เอื้อนสารเสาวพจน์ แด่เอารสยศเยศ องค์อิศเรศอุปราช ให้ยกยาตราทัพ กับนครเชียงใหม่ เป็นพยุหใหญ่ห้าแสน ไปเหยียบแดนปราจีน



                                                         
 พระมหาอุปราชา
  
                             ๑) เป็นลูกกตัญญู พระมหาอุปราชาทรงเกรงสมเด็จพระนเรศวรในเรื่องฝีมือและความอาจหาญ แต่จำเป็นต้องยกทัพมาตีกรุงศรีอยุธยา เพราะขัดพระบรมราชโองการไม่ได้ ในระหว่างเดินทัพมาได้เกิดลางร้ายต่างๆ พระมหาอุปราชาเกิดความโศกเศร้าเสียพระทัพเพราะไม่มั่นพระทัพว่าจะได้รับชัยชนะ ทำให้ทรงห่วงใยพระราชบิดายิ่งนัก ข้อความที่แสดงให้เห็นความกตัญญูของพระมหาอุปราชา คือ ตอนที่คร่ำครวญถึงพระราชบิดาว่าจะว้าเหว่และขาดคู่คิดในการทำสงคราม และพระองค์เองก็ไม่สามารถทดแทนบุญคุณของพระบิดาได้

                                                      พระเนานัคเรศอ้า                           เอองค์
                                         ฤาบ่มีใครคง                                               คู่ร้อน
                                         จักริจักเริ่มรงค์                                            ฤาลุ แล้วแฮ
                                         พระจักขุ่นจักข้อน                                       จักแค้นคับทรวง
                                                    
                                                     พระคุณตวงเพียบพื้น                      ภูวดล
                                       เต็มตรลอดแหล่งบน                                     บ่อนใต้
                                       พระเกิดพระก่อนชนม์                                   ชุบชีพ มานา
                                       เกรงบ่ทันลูกได้                                            กลับเต้าตอบสนอง

                              ๒)  มีพระทัยอ่อนไหว พระมหาอุปราชาทรงพระทมทุกข์มาก ไม่ต้องการออกรบ เพราะเสียขวัญกำลังใจจากการที่โหรทำนายว่าจะถึงฆาต สูญเสียความภูมิใจในฐานะพระโอรสแห่งกษัตริย์หงสาวดี เพราะถูกเยาะเย้ยให้อับอายในที่ประชุมขุนนาง พระองค์ทรงมีแต่ความเศร้าโศกเสียพระทัยที่ต้องจากบ้านเมือง จากความสุขสบายที่เคยได้รับ เมื่อใช้ชีวิตอยู่ในวังพรั่งพร้อมด้วยพระสนม เพราะเป็นคนที่อ่อนไหวในอารมณ์ ทำให้ระทมทุกข์ ขณะเดินทางก็คิดถึงนางอันเป็นที่รักด้วยความอาลัยอาวรณ์ตลอดเวลา พบเห็นสิ่งใดก็อดไม่ได้ที่จะนำมาเปรียบเทียบกับความรัก ความคิดถึงที่พระองค์มีให้แก่พระสนม

                                                     มาเดียวเปลี่ยวอกอ้า                        อายสู
                                        สถิตอยู่เอ้องค์ดู                                            ละห้อย
                                        พิศโพ้นพฤกษ์พบู                                         บานเบิก ใจนา
                                        พลางคะนึงนุชน้อย                                       แน่งเนื้อนวลสงวน

                              ๓) มีขัตติยมานะ คือ การถือตัวว่าเป็นกษัตริย์ ถึงแม้พระมหาอุปราชาจะมีความประหวั่นพรั่นพรึงว่าจะต้องสูญเสียชีวิตในการทำศึกสงคราม และมีความโศกเศร้าสักเพียงใด แต่ด้วยขัตติยมานะ พระองค์ก็เดินทัพไปด้วยความหยิ่งทะนงในพระองค์เอง ขัตติยมานะของพระองค์ทำให้เมื่อพระองค์ทราบแน่ชัดว่าผู้ใดเป็นจอมทัพฝ่ายไทย ก็วางแผนทำศึกทันทีทั้งๆที่ยังมีความหวาดหวั่นในพระทัยอยู่
                              ครั้นพระบาทได้สดับ ธก็ทราบสรรพโดยควร ว่านเรศวรกษัตรา กับเอกาทศรุถ ยกมายุทธ์แย้งรงค์ แล้วพระองค์ตรัสถาม สามสมิงนายกองม้า ถ้าจักประมาณพลไกร สักเท่าใดดูตระหนัก ตรัสซ้ำซักเขาสนอง ว่าพลผองทั้งเสร็จ ประมาณสิบเจ็ดสิบแปดหมื่น ดูดาษดื่นท่งกว้าง ครั้นเจ้าช้างทรงสดับ ธก็ตรัสแก่ขุนทัพขุนกอง ว่าซึ่งสองกษัตริย์กล้า ออกมาถ้ารอรับ เป็นพยุหทัพใหญ่ยง คงเขาน้อยกว่าเรา มากกว่าเขาหลายส่วน จำเราด่วนจู่โจม โหมหักเอาแต่แรก ตีให้แตกย่นย่อย ค่อยเบาแรงเบามือ เร็วเร่งฮือเข้าห้อม ล้อมกรุงเทพทวารัติ ชิงเอาฉัตรตัดเข็ญ เห็นได้เวียงโดยสะดวก แล้วธส่งพวกขุนพล เทียบพหลทุกทัพ สรรพแต่สามยามเสร็จ ตีสิบเอ็ดนาฬิกา จักยาตราทัพขันธ์ กันเอารุ่งไว้หน้า เร็วเร่งจัดอย่าช้า พรุ่งเช้าเราตี เทอญนา 


องค์ประกอบของเรื่อง

              ๑.สาระ แก่นสำคัญของลิลิตตะเลงพ่าย คือ การยอพระเกียรติสมเด็จพระนเรศวรมหาราชในด้านพระปรีชาสามารถทางการรบ โดยการกระทำสงครามยุทธหัตถีกับพระมหาอุปราชาแห่งกรุงหงสาวดีและได้รับชัยชนะอย่างงดงาม นอกจากพระปรีชาสามารถทางการรบแล้ว ผู้แต่งยังได้เน้นพระปรีชาสามารถในด้านการปกครองและพระจริยวัตรอันกอปรด้วยทศพิธราชธรรม ๑๐ ประการ สังคหวัตถุ ๔ ประการ และพระจักรวรรดิวัตร ๑๒ ประการ         
             ๒.โครงเรื่อง ลิลิตตะเลงพ่ายเป็นวรรณคดีเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ซึ่งสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรสทรงนำมาจากประวัติศาสตร์ ซึ่งมีขอบเขตกำหนดเนื้อกาไว้เพียงเรื่องการทำสงครามยุทธหัตถี แต่เพื่อมิให้เนื้อเรื่องแห้งแล้งขาดชีวิตชีวาจึงทรงเพิ่มเติมเรื่องที่ไม่ใช่การสงครามเข้าไป เนื้อหาที่สำคัญเป็นหลักของเรื่อง “ตะเลงพ่าย” คือ การดำเนินความตามเค้าเรื่องพงศาวดาร ได้แก่ การทำสงคราม การต่อสู้แบบยุทธหัตถี การจัดทัพ และรายละเอียดต่างๆ ซึ่งเป็นไปตามตำราพิชัยสงครามและโบราณราชประเพณีทุกอย่าง สำหรับเนื้อหาที่เป็นส่วนเพิ่มเติมส่วนเสริมเรื่อง คือ บทประพันธ์ที่เป็นลักษณะนิราศ ซึ่งพรรณนาเกี่ยวกับการเดินทางและการคร่ำครวญถึงนางผู้เป็นที่รักโดยผ่านบทบาทของพระมหาอุปราชา
                         ๓.ตัวละคร
                             สมเด็จพระนเรศวร
                             ๑)  มีความเป็นนักปกครองที่ดี ทรงเลือกใช้คนโดยพิจารณาจากคุณวุฒิรวมถึงทรงปรับปรุงตำราพิชัยสงครามจากของเดิมให้เหมาะสม และรัดกุมมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้จากบทประพันธ์บางตอนยังแสดงให้เห็นว่าทรงเป็นนักปกครองที่พร้อมรับฟังความเห็นของขุนนางและข้าราชบริพาร ดังบทประพันธ์นี้
                                                     ทั้งมวลหมู่มาตย์ซ้อง                   สารพลัน
                                     ทูลพระจอมจรรโลง                                     เลื่องหล้า
                                     แถลงลักษณะปางบรรพ์                               มาเทียบ ถวายแฮ
                                     แนะที่ควรเสด็จค้า                                        เศิกไซร้ไกลกรุง
                             
                              ๒) มีความเป็นนักรบ สมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงเป็นนักรบที่แท้จริง เพราะทรงรอบรู้เรื่องกระบวนศึก การจัดทัพ การเคลื่อนทัพ การตั้งค่ายตามตำราพิชัยสงครามที่สำคัญคือ พระองค์มีความกล้าหาญ เด็ดเดี่ยว ไม่หวั่นเกรงต่อข้าศึก แม้จะอยู่ในลักษณะเสียเปรียบก็ไม่เกรงกลัว แต่กลับใช้บุคลิกภาพอันกล้าหาญของพระองค์เผชิญกับข้าศึกด้วยพระทัยที่มั่นคงเข้มแข็ง ดังตอนที่พระองค์ตกอยู่ในวงล้อมของกองทัพพม่ามอญ

                                                
                                                      สองสุริยพงศ์ผ่านหล้า                ขับคเซนทร์บ่ายหน้า
                                     แขกเจ้าจอมตะเลง                                      แลนา
                                                    ไป่เกรงประภาพเท่าเผ้า                พักตร์ท่านผ่องฤาเศร้า
                                    สู่เสี้ยนไป่หนี                                                 หน้านา
                                                    ไพรีเร่งสาดซ้อง                           โซรมปืนไฟไป่ต้อง
                                   ตื่นเต้นแตกฉาน                                             ผ้านนา

                              ๓) มีพระปรีชาญาณ คือ ความฉลาด รอบรู้ มีไหวพริบ สมเด็จพระนเรศวรทรงมีพระปรีชาญาณในหลายๆด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านการทำศึกสงครามพระองค์ทรงสุขุม รอบคอบ ทำการศึกโดยไม่วู่วามขาดสติ ทรงพิจารณาอุบายกลศึกด้วยความรู้และประสบการณ์อย่างแท้จริง ตอนที่แสดงให้เห็นความมีพระปรีชาญาณของพระองค์ เช่น ตอนที่พระองค์ตกอยู่ในวงล้อมของข้าศึก พระองค์ทรงเห็นนายทัพฝั่งตรงข้ามที่ขี่ช้างมีฉัตรกั้นถึงสิบหกเชือก ยากที่จะแยกแยะได้ว่าใครเป็นใคร แต่ด้วยพระปรีชาญาณและช่างสังเกตก็เห็นนายทัพคนหนึ่งขี่ช้างมีฉัตรกั้นอยู่ใต้ร่มไม้ข่อย มีพลทหารสี่เหล่าเรียงรายอยู่จำนวนมากจึงคาดว่านายทัพคนนั้นคือ พระมหาอุปราชาแน่นอน จึงตรงเข้าไปทรงท้าพระมหาอุปราชากระทำยุทธหัตถีด้วยวาจาสุภาพ อ่อนโยนและให้เกียรติ ซึ่งแสดงถึงพระปรีชาญาณและไหวพริบของพระองค์อย่างดียิ่ง ดังตัวอย่าง

                                                        ปิ่นสยามยลแท้ท่าน               คะเนนึก อยู่นา
                                      ถวิลว่าขุนศึกสำ                                        นักโน้น
                                      ทวนทัพเทียบพันลึก                                 แลหลาก หลายแฮ
                                      ครบเครื่องอุปโภคโพ้น                             เพ่งเพี้ยงพิศวง



  
เนื้อเรื่องย่อ

เริ่มด้วยการต้นชมพระบารมีและพระบรมเดชานุภาพของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช แล้วดำเนินความตามประวัติศาสตร์ว่า พระเจ้าหงสาวดีนันทบุเรงทรงทราบว่า สมเด็จพระมหาธรรมราชา เสด็จสวรรคต สมเด็จพระนเรศวรได้ครองราชสมบัติ พระองค์จึงตรัสปรึกษาขุนนางทั้งปวงว่ากรุงศรีอยุธยาผลัดเปลี่ยนกษัตริย์ สมเด็จพระนเรศวรและสมเด็จพระเอกาทศรถ พระพี่น้องทั้งสองอาจรบพุ่งชิงความเป็นใหญ่กัน ยังไม่รู้เหตุผลประการใด ควรส่งทัพไปเหยียบดินแดนไทย เป็นการเตือนสงครามไว้ก่อน ถ้าเหตุการณ์เมืองไทยไม่ปกติสุขก็ให้โจมตีทันที ขุนนางทั้งหลายก็เห็นชอบตามพระราชดำรีนั้น พระจ้าหงสาวดีจึงตรัสให้ พระมหาอุปราชเตรียมทัพร่วมกับพระมหาราชเจ้านครเชียงใหม่ แต่พระมหาอุปราชากราบทูลพระบิดาว่าโหรทายว่าชันษาของพระองค์ร้ายนัก
สมเด็จพระเจ้าหงสาวดีตรัสว่าพระมหาธรรมราชาไม่เสียแรงมีโอรสล้วนแต่เชี่ยวชาญกล้าหาญในศึกมิเคยย่อท้อการสงคราม ไม่เคยพักให้พระราชบิดาใช้เลยต้องห้ามเสียอีก ผิดกับพระองค์ และให้พระมหาอุปราชาไปเอาภัสตราภรณ์สตรีมาทรงเสีย พระมหาอุปราชาทรงอับอายและหวาดกลัวพระราชอาญาของพระบิดายิ่งนัก จึงเตรียมจัดทัพหลวงและทัพหัวเมืองต่างๆ เพื่อยกมาตีไทย ขณะนั้นสมเด็จพระนเรศวรเตรียมทัพจะไปตีกัมพูชาเป็นการแก้แค้นที่ถือโอกาสรุกรานไทยหลายครั้งระหว่างที่ไทยติดศึกกับพม่า พอสมเด็จพระนเรศวรทรงทราบข่าวศึกก็ทรงถอนกำลังไปสู้รบกับพม่าทันที ทัพหน้ายกล่วงหน้าไปตั้งที่ตำบลหนองสาหร่าย
ฝ่ายพระมาหาอุปราชาทรงคุมทัพมากับพระเจ้าเชียงใหม่รี้พลรบ 5 แสน เข้ามาทางด่านเจดีย์สามองค์ ทรงชมไม้ ชมนก ชมเขา และคร่าครวญถึงพระสนมกำนัลมาตลอดจนผ่านไทรโยคลำกระเพิน และเข้ายึดเมืองกาญจนบุรีได้โดยสะดวก ต่อจากนั้นก็เคลื่อนพลผ่านพนมทวนเกิดลางร้ายลมเวรัมภาพัดฉัตรหัก ทรงตั้งค่ายหลวงที่ตำบลตระพังตรุ ฝ่ายสมเด็จพระนเรศวรและสมเด็จพระเอกาทศรถทรงเคลื่อนพยุหยาตราทางชลมารค ไปขึ้นบกที่ปากโมก บังเกิดศุภนิมิต ต่อจากนั้นทรงกรีฑาทัพทางบกไปตั้งค่ายที่ตำบลหนองสาหร่าย เมื่อทรงทราบว่าพม่าส่งทหารมาลาดตะเวน ทรงแน่พระทัยว่าพม่าจะต้องโจมตีกรุงศรีอยุธยาเป็นแน่ จึงรับสั่งให้ทัพหน้าเข้าปะทะข้าศึกแล้ว ล่าถอยเพื่อลวงข้าศึกให้ประมาท แล้วสมเด็จพระนเรศวรมหาราชกับสมเด็จพระเอกาทศรถทรงนำทัพหลวงออกมาช่วย ช้างพระที่นั่งลองเชือกตกมันกลับเขาไปในหมู่ข้าศึกแม่ทัพนายกองตามไม่ทัน สมเด็จพระนเรศวรมหาราชตรัสท้าพระมหาอุปราชาทำยุทธหัตถีและทรงได้รับชัยชนะ โดยทรงใช้พระแสงของ้าวฟันพระมหาอุปราชาขาดคาคอช้าง พระแสงของ้าวนั้นได้รับการขนานนามในภายหลังว่า พระแสงของ้าวเจ้าพระยาแสนพลพ่าย ทางด้านสมเด็จพระเอกาทศรถได้ทรงกระทำยุทธหัตถีมีชัยชนะแก่มังจาชโร
เมื่อกองทัพพม่าแตกพ่ายไปแล้วสมเด็จพระนเรศวรมาหาราชรับสั่งให้สร้างสถูปเจดีย์เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติพระมหาอุปราชา เสด็จแล้วจึงเลิกทัพกลับกรุงศรีอยุธยา เป็นอันจบเนื้อเรื่อง





  
ลักษณะการแต่ง 
                    แต่งด้วยลิลิตสุภาพ ประกอบด้วย ร่ายสุภาพ โคลงสองสุภาพ โคลงสามสุภาพ และโคลงสี่สุภาพ แต่งสลับกันไป จำนวน 439 บท โดยได้แบบอย่างการแต่งมาจากลิลิตยวนพ่ายที่แต่งขึ้นในสมัยอยุธยาตอนต้น ลิลิตเปรียบได้กับงานเขียนมหากาพย์ จัดเป็นวรรณคดีประเภทเฉลิมพระเกียรติพระมหากษัตริย์

ลิลิตตะเลงพ่าย

         ลิลิตตะเลงพ่าย  เป็นบทประพันธ์ประเภทลิลิต ประพันธ์ขึ้นโดสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรสและ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นภูบาลบริรักษ์ เพื่อสดุดีวีรกรรมของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ในวาระงานพระราชพิธีฉลองตึกวัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามในรัชกาลที่ 3 โดยตะเลงในที่นี้หมายถึงมอญ 
     
           ที่มาของเรื่อง 
           1.พระราชพงศาวดารฉบับพันจันทนุมาศ(เจิม) 
           2.วรรณคดีเก่าเรื่อง ลิลิตยวนพ่าย ลิลิตพระลอ 
           3.จินตนาการของผู้แต่ง คือ ช่วงบทนิราศ 

          จุดมุ่งหมายในการแต่ง 
            1.เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนเรศวรมหาราช
           2.ฉลองตึกวัดพระเชนตุพนสมัย รัชกาลที่ 3
           3.สร้างสมบารมีของผู้แต่ง(เพราะผู้แต่งขอไว้ว่าถ้าแต่งเสร็จขอให้สำเร็จสู่พระนิพพาน )






ย้อนรอยอดีต ลิลิตตะเลงพ่าย
กับภาพยนตร์ ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช